วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ขันธ์ 5


     ขันธ์ แปลว่า กอง, หมวด, หมู่, ส่วน ในทางพุทธศาสนาหมายถึงร่างกายของคนเรา คือแยกร่างกายออกเป็นส่วนๆ ตามสภาพได้ 5 ส่วน หรือ 5 ขันธ์ คือ

1. รูป ได้แก่ ส่วนที่ผสมกันของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เช่น ผม หนัง กระดูก โลหิต

2. เวทนา ได้แก่ ระบบประมวลความรู้สึกว่า ชอบหรือไม่ชอบ และเฉยๆ

3. สัญญา ได้แก่ จำสิ่งที่ได้รับและรู้สึกนั้นๆ

4. สังขาร ได้แก่ ระบบคิดปรุงแต่ง แยกแยะสิ่งที่รับรู้สึกและจำได้นั้นๆ

5. วิญญาณ ได้แก่ ระบบรู้สิ่งนั้นๆ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

     ขันธ์นี้ รูปจัดเป็นรูปธรรม เวทนา,สัญญา,สังขาร,วิญญาณจัดเป็นนามธรรม เมื่อจัดขันธ์เข้าในปรมัตถธรรม
-วิญญาณขันธ์ จัดเข้าในจิต
-เวทนาขันธ์ ,สัญญาขันธ์ ,สังขารขันธ์ จัดเข้าในเจตสิก
-รูปขันธ์ จัดเข้าในรูป
-การหมดเหตุปัจจัยของนามรูป จัดเข้าในนิพพาน

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557

จักรวรรดิวัตร 12

เมื่อพระเจ้าสังขบรมจักรพรรดิจะทรงราชาภิเษก ได้มีปราสาททองประดับด้วยรัตนชาติ ผุดขึ้นมาจากแม่น้ำคงคา
     จักรวรรดิวัตร 12 คือ ธรรมอันเป็นพระราชจริยานุวัตร สำหรับพระมหาจักรพรรดิ และพระราชาเอกในโลก ทั้งนี้ โดยพระมหากษัตริย์ ผู้ปกครองประชาชน ทรงถือ และอาศัยธรรมข้อนี้เป็นธงชัย ร่วมกันกับ ทศพิธราชธรรม และราชสังคหะ 4 สำหรับ การดำเนินกุศโลบายและวิเทโศบาย จักรวรรดิวัตร มี 12 ประการคือ

จักรวรรดิวัตร ข้อ 1.สงเคราะห์คนในราชสำนัก และข้าราชการฝ่ายทหาร
 1.อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ ควรอนุเคราะห์คนในราชสำนัก และคนภายนอก ให้มีความสุข ไม่ปล่อยปละละเลย

จักรวรรดิวัตร ข้อ 2.สงเคราะห์กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ
 2. ขตฺติเยสุ ควรผูกไมตรีกับประเทศอื่น

จักรวรรดิวัตร ข้อ 3.สงเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์ และเหล่าข้าราชบริพารทั้งหลาย
 3. อนุยนฺเตสุ ควรอนุเคราะห์พระราชวงศานุวงศ์

คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย
 4. พฺราหฺมณคหปติเกสุ ควรเกื้อกูลพราหมณ์ คหบดี และคฤหบดีชน คือเกื้อกูลพราหมณ์และผู้ที่อยู่ในเมือง

คุ้มครองราษฎรทั้งหลาย
 5. เนคมชานปเทสุ ควรอนุเคราะห์ประชาชนในชนบท

คุ้มครองสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล
 6. สมณพฺราหฺมเณสุ ควรอนุเคราะห์สมณพราหมณ์ผู้มีศีล

คุ้มครองฝูงเนื้อนกและสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์
 7. มิคปกฺขีสุ ควรจักรักษาฝูงเนื้อ นก และสัตว์ทั้งหลายมิให้สูญพันธุ์

ห้ามปรามประชาชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม
 8. อธมฺมการปฏิกฺเขโป ควรห้ามชนทั้งหลายมิให้ประพฤติผิดธรรม และชักนำด้วยตัวอย่างให้อยู่ในกุศลสุจริต

ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ประชาชนผู้ไร้
 9. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ ควรเลี้ยงดูคนจน เพื่อมิให้ประกอบการทุจริต กุศลและอกุศลต่อสังคม

เข้าไปหาสมณพราหมณ์ผู้ทรงศีล
10. สมณพฺราหฺมเณอุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ ควรเข้าใกล้สมณพราหมณ์ เพื่อศึกษาบุญและบาป กุศล และอกุศลให้แจ้งชัด

ละความกำหนัดยินดีอันไม่ประกอบด้วยธรรม
11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ ควรห้ามจิตมิให้ต้องการไปในที่ที่พระมหากษัตริย์ไม่ควรเสด็จ

ละความโลภไม่ให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้
12. วิสมโลภสฺส ปหานํ ควรระงับความโลภมิให้ปรารถนาในลาภที่พระมหากษัตริย์มิควรจะได้

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ทศพิธราชธรรม

     
     ทศพิธราชธรรม หรือ ราชธรรม 10 คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม ประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้
     ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ราชธรรม 10" นี้ ปรากฏอยู่ในพระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถา ดังนี้
   
     ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ.
ขุ.ชา.28/240/86

1. ทาน (ทานํ) คือ การให้

 2. ศีล (สีลํ) คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ


 3. บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขสวนตนเพื่อความสุขส่วนรวม

 4. ความซื่อตรง (อาชฺชวํ) คือ ความซื่อตรง

 5. ความอ่อนโยน (มทฺทวํ) คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน

 6. ความเพียร (ตปํ) คือ ความเพียร

 7. ความไม่โกรธ (อกฺโกธํ) คือ ความไม่แสดงความโกรธ

 8. ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ การไม่เบียดเบียน

 9. ความอดทน (ขนฺติ) คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง

10. ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ) คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก

วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

จตุธาตุววัตถาน

              จตุธาตววัตถาน แปลว่า ธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน  ธาตุน้ำ  ธาตุลม  ธาตุไฟ  ธาตุ ๔ นี้ เป็นโครงร่างเป็นที่อาศัยของ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิตที่มีอำนาจบัญชา
              การในความคิดต่างๆ ความคิดอ่านต่าง ๆ เป็นเรื่องของจิต ความรับรู้ที่เรียกว่ารู้สึกว่า หนาว ร้อน หิว กระหาย เปรี้ยว เค็ม หวาน เผ็ด รู้การสัมผัสว่าอ่อนแข็งนิ่ม อย่างนี้เป็นต้น เป็นความรู้สึกของวิญญาณ ที่ได้รับบัญชามาจากจิต
              โดยจิตบัญชาว่า อย่างนั้นเป็นอะไร วิญญาณก็รับทราบตามนั้นความจดจำ เรื่องราวต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของสัญญา รวมความแล้วธาตุ ๔ ที่เป็นเรือนร่างอาศัย ไม่มีความรับรู้ อะไรเลย มีสภาพเหมือนบ้านเรือนที่มีคนอาศัย บ้านจะสวย หรือจะผุพัง บ้านเรือนไม่มีทุกข์
               แต่ เจ้าของบ้านคือคนที่อาศัยอยู่ในบ้านนั่นเองเป็นผู้ทุกข์ ธาตุ ๔ ที่เป็นเรือนร่างของจิตและอุปกรณ์ ต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วก็เช่นเดียวกัน ความรู้สึกสุขทุกข์ร่างกายที่สร้างด้วยธาตุ ๔ ไม่รู้เรื่องเลย
               ดังเราจะเห็นว่า เมื่อจิตไม่รับรู้อาการของทางกายบางขณะ เช่นว่าหลับ หรือมีความเพลิดเพลิน อย่างใดอย่างหนึ่ง ร่างกายไม่ยอมรับรู้ทุกข์ เช่นนอนหลับ จิตสงบจากอารมณ์ภายนอก ตอนนั้นจิต ไม่รับรู้เรื่องใด ๆ ใครจะมาด่า นินทาให้ได้ยิน แม้จะพูดจนใกล้ ร่างกายก็เฉยไม่รับรู้รับทราบ หรือเมื่อจิตออกจากร่าง คือ ตาย ใครจะทำอะไร จะด่า เอามีดมาฟัน จะเอาไฟมาเผา กายไม่รู้ เรื่องปล่อยทำตามอารมณ์ ความสุขความทุกข์ที่ปรากฏ เป็นอาการของจิต
               พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้ทราบเรื่องของร่างกายก็เพราะจะได้ทราบตามความ เป็นจริง จะได้ไม่หลงผิดอันเป็นการมัวเมา ในร่างกายเกินควร และเป็นเหตุให้ถอนความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ง่าย ร่างกายอันเกิด จากธาตุ ๔ นี้ มีอธิบายดังต่อไปนี้


                ๑. ปฐวีธาตุ ธาตุดิน ธาตุดินที่มีในร่างกายนั้น ก็คือของแข็งที่เป็นก้อนเป็นแท่งในเรือนร่าง เช่น กระดูก เนื้อ ลำไส้ และอวัยวะทั้งหมดที่มีเนื้อ เส้นเอ็น รวมความว่า สิ่งที่เป็นก้อนเป็นแท่ง ในร่างกายจัดว่าเป็นธาตุดินทั้งหมด


                ๒. เตโชธาตุ ธาตุไฟ ได้แก่ความอบอุ่นที่ปรากฏภายในเรือนร่าง ท่านเรียกว่าธาตุไฟ


                ๓. วาโยธาตุ ธาตุลม ได้แก่สิ่งที่พัดไปมาในร่างกาย มีลมหายใจเป็นต้น เรียกว่า ธาตุลม


                ๔. อาโปธาตุ ธาตุน้ำ สิ่งที่เอิบอาบ ไหลไปมาในร่างกาย มีน้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง เสลด น้ำลาย ปัสสาวะ เป็นต้น เรียกว่า ธาตุน้ำ

                พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า เรือนร่างของเรานี้เป็นธาตุ ๔ ประชุม กันขึ้น เป็นเรือนร่างชั่วคราว เป็นของไม่จีรังยั่งยืน มีเสื่อมและสลายตัวในที่สุด ไม่มีอะไรสะอาดน่ารัก น่าชม เป็นของน่าเกลียดโสโครก เป็นแดนรับทุกข์เพราะจิตหลงผิดยึดเรือนร่างว่า เป็นเราเป็นของเรา
                คิดว่าร่างกายจะทรงความเจริญตลอดกาลตลอดสมัย คิดว่าจะไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย หลงว่าสวยสด งดงาม ในมหาสติปัฏฐานท่านสอนให้แยกร่างกายออกเป็น ๔ ส่วน
                โดยให้พิจารณาโคที่ถูกนายโคฆาต คือคนฆ่าโคฆ่าตายแล้ว ให้เอาเนื้อกระดูกและไส้พุงตับไตไปกองไว้ส่วนหนึ่ง เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ส่วนหนึ่ง แล้วพิจารณาว่ามีอะไรบ้างที่พอจะเห็นว่าสวยสดงดงาม พิจารณาแล้วจะเห็นว่า ไม่มีอะไรสวย เลย
                แล้วท่านให้พิจารณาตัวเองเช่นเดียวกับโคที่ถูกฆ่านั้น ให้เห็นว่าร่างกายเราก็ดี ใครก็ตามที่เรา เห็นว่าเป็นเรือนร่างที่สวยสดงดงาม น่ารักน่าชม ให้พิจารณาหาความจริงว่า ในเมื่อร่างนี้เป็นเพียง ธาตุ ๔ ผสมตัวกันชั่วคราว มีเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองที่หลั่งไหลอยู่ภายในตลอดร่าง จะมีอะไรสวยงาม
                จงพิจารณาหาความจริงตามนี้ จนอารมณ์จิตมีความรู้สึกเป็นปกติว่า ร่างแต่ละร่างเป็นธาตุที่รวมตัวกัน เลอะเทอะด้วยของโสโครกน่าเกลียด ไม่น่ารักเลย นอกจากน่าเกลียดแล้ว ยังไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน มีการก่อตัวขึ้นแล้วยังเป็นรังที่อาศัยของโรคภัยไข้เจ็บ มีโรครบกวนเป็นปกติ หาความสุขสบายแม้แต่ นิดหนึ่งไม่มีเลย
                 ร่างนี้ยังต้องบริหารด้วยการออกกำลังกาย การบำรุงรักษาอาหารมาบำรุงบำเรอ ต้อง บริหาร ด้วยอาการต่าง ๆ เป็นปกติ ถึงกระนั้นจะทำให้สิ้นทุกข์หาได้ไม่ เพียงแต่ระงับทุกข์ชั่วคราว เท่านั้น
                 แล้วในที่สุดความเสื่อมโทรมของธาตุ ๔ ก็จะค่อยทวีตัวมากขึ้น ในที่สุดธาตุ ๔ ก็ค่อย ๆ คลายตัวจากความเข้มแข็ง เป็นอ่อนสลวยและสิ้นกำลังในที่สุด
                 เป็นจุดดับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็น อนัตตา คือบังคับไม่ให้ดับสลายไม่ได้ ท่านสอนให้พิจารณาให้รู้ ให้เข้าใจ จนจิตมีความรู้สึกเป็นอารมณ์ ประจำตามที่ท่านเรียกตามแบบว่า เป็นเอกัคคตารมณ์ คือ อารมณ์เห็นอย่างนั้นเป็นปกติ จนหมด ความเมาในเรือนร่าง หมดความเมาในความเป็นอยู่ รู้อยู่เสมอว่าเราต้องตาย
                  ธาตุที่รวมตัวนี้ต้อง สลาย และสลายตัวอยู่เป็นปกติทุกวันเวลาที่เคลื่อนไป ตัดความห่วงอาลัยในธาตุที่ประชุมเป็นเรือนร่าง เสีย เห็นเป็นอนัตตาเป็นปกติ คิดรู้อยู่เสมอโดยมีความคิดเป็นปกติว่า ร่างสิ้นไป
                  เราคือจิตจะอาศัย ร่างชั่วคราว เมื่อสิ้นร่าง เราก็ไม่ยึดแดนใดเป็นที่เกิดต่อไป เพราะการเกิดเป็นการแสวงหาความ ทุกข์ ถ้าไม่เกิด ก็ไม่มีทุกข์ แดนที่เรียกว่าไม่เกิด คือแดนพระนิพพาน พระนิพพานที่จะไปถึงได้ ก็อาศัยความไม่ยึดถือร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุ ๔ นี้ว่า เป็นเรา เป็นของเรา มีความเห็นว่ากายสลาย ตัวในที่สุด จนตัดความรักความพอใจในโลกเสียได้
                  บัดนี้เราเห็นแล้วว่าร่างกายและโลกทั้งโลกเป็น แดนทุกข์ เราตัดความยึดมั่นได้แล้ว เราตัดตัณหา คือความปรารถนาในความเกิดต่อไปแล้ว เราตัด ความยึดถือในสรรพวัตถุที่เป็นเหตุของทุกข์ได้แล้ว ความสิ้นเชื้อในความเกิดได้มีแล้ว
                   เราสิ้นรักด้วย อำนาจราคะที่เป็นเชื้อให้เกิดแล้ว เราตัดพยาบาท อันเป็นปัจจัยให้วนเวียนในวัฏฏะได้แล้ว เราตัด ความหลงผิดที่เห็นว่าร่างกายเป็นเราได้แล้ว เพราะทราบว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา คิดอย่างนี้จนเป็น อารมณ์ จนจิตมีความรู้สึกตัดความคิดว่าโลกเป็นสุข เห็นโลกเต็มไปด้วยความทุกข์ได้แล้ว ก็ชื่อว่า ท่านชนะตัณหาได้แล้ว ท่านจบกิจในพรหมจรรย์แล้ว ท่านไม่ต้องเกิดต่อไป ท่านมีพระนิพพานเป็นที่ ไปในที่สุด ชื่อว่าท่านหมดทุกข์สมความปรารถนาแล้ว การพิจารณาอย่างนี้ เรียกว่าพิจารณาทั้งสมถะ และวิปัสสนาร่วมกัน

วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

อนุสสติ

                อนุสสติ แปลว่า “ตามระลึกถึง” กรรมฐานกองนี้ เป็นกรรมฐานที่ตามระลึงนึกถึง มีกำลังสมาธิไม่เสมอกัน บางหมวดก็มีสมาธิเพียงอุปจารฌาน บางหมวดก็มีสมาธิถึงปฐมฌาน บางหมวดก็มีสมาธิถึงฌาน 4 และฌาน 5 กำลังของกรรมฐานกองนี้มีกำลังไม่เสมอกันดังนี้ อนุสสติทั้ง 10 อย่างนี้ ็เหมาะแก่อารมณ์ของนักปฎิบัติไม่ใช่อย่างเดียวกันบางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในวิตกและโมหะจริต บางหมวดก็เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในราคจริต กองใดหมวดใดเหมาะแก่ท่านที่หนักไปในจริต อนุสสตินี้มีชื่อและอาการรวม 10 อย่างด้วยกัน จะนำชื่อแห่งอนุสสติทั้งหมดมาเขียนไว้เพื่อทราบ ดังต่อไปนี้

                1. พุทธานุสสติ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

                2. ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระธรรมเป็นอารมณ์

                3. สังฆนุสสติ ระลึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์

                4. สีลานุสสติ ระลึกถึงศีลเป็นอารมณ์

                5. จาคานุสสติ ระลึกถึงผลของทานการบริจาคเป็นอารมณ์

                6. เทวตานุสสติ ระลึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์
(อนุสสติทั้ง 6 กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในสัทธาจริต)

               7. มรณานุสสติ ระลึกถึงความตายเป็นอารมณ์

               8. อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความสุขในนิพพานเป็นอารมณ์
(อนุสสติ 2 กองนี้ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในพุทธจริต)

               9. กายคตานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในราคจริต

             10. อานาปานานุสสติ เหมาะแก่ท่านที่หนักไปในโมหะและจริต

               อนุสสติทั้ง 10 นี้ เหมาะแก่อัชฌาสัยของนักปฎิบัติแต่ละอย่างดังนี้


กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง 10

               กำลังสมาธิในอนุสสติทั้ง 10 มีกำลังสมาธิแตกต่างกันอย่างนี้

              พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ เทวตานุสสติ มรณานุสสติ อุปสมานุสสติ อนุสสติทั้ง 7 นี้ มีกำลังสูงสุดเพียงอุปจารสมาธิ

              ลีลานุสสติ มีกำลังสมาธิถึงอุปจารสมาธิ และอย่างสูงสุดเป็นพิเศษ ถึงปฐมฌานได้ ทั้งนี้ถ้าท่านนักปฎิบัติฉลาดในการควบคุมสมาธิจึงจะถึงปฐมฌานได้้ แต่ถ้าทำกันตามปกติธรรมดาแล้ว ก็ทรงได้เพียงอุปจารสมาธิเท่านั้น

             กายคตานุสสติกรรมฐานกองนี้ ถ้าพิจารณาตามปกติในกายคตาแล้ว จะทรงสมาธิได้เพียงปฐมฌานเท่านั้น แต่ถ้านักปฎิบัติฉลาดทำ หรือครูฉลาดสอน ยกเอา สีเขียว ขาว แดง ที่ปรากฎในอารมณ์แห่งกายคตานุสสตินั้นเอามาเป็นกสิณ ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคดังนี้ กรรมฐานกองนี้ก็สามารถทรงสมาธิได้ฌาน 4 ตามกำลังสมาธิในกสิณนั้น

            อานาปานุสสติ สำหรับอานาปานุสสตินี้ มีกำลังสมาธิถึงฌาน 4 สำหรับท่านที่มาวาสนาบารมีสาวกภูมิิ สำหรับท่านที่มีบารมี คือปรารถนาพุทธภูมิแล้วก็สามารถทรงสมาธิได้ฌาน 5 ฌาน 4